เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิมีพระชนมายุยืน ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ
นานเกินกว่ามนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็น
ประการที่ 2
อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิมีพระโรคาพาธน้อย มีโรคเบาบาง
ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เกินกว่า
มนุษย์เหล่าอื่น พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ 3
อีกประการหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ ของ
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เปรียบเหมือนบิดาเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของบุตร
แม้ฉันใด พระจักรพรรดิก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของ
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
อนึ่ง พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายเป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระทัยแม้
ของพระเจ้าจักรพรรดิ เปรียบเหมือนบุตรเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของบิดา แม้ฉันใด
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ก็เป็นที่โปรดปราน เป็นที่พอพระ
ทัยแม้ของพระเจ้าจักรพรรดิ
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาว่า พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา
เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีพากันเข้าเฝ้าพระเจ้า
จักรพรรดิ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะ มหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าด่วน
เสด็จไป โปรดเสด็จโดยอาการที่ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ชมพระบารมีนาน ๆ เถิด’
แม้พระเจ้าจักรพรรดิได้รับสั่งเรียกนายสารถีมาตรัสว่า ‘แน่ะพ่อสารถี ท่านจง
ค่อย ๆ ขับไปโดยอาการที่ฉันจะพึงเยี่ยมพราหมณ์และคหบดีได้นาน ๆ เถิด’
พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ นี้เป็นประการที่ 4
ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยฤทธิ์ 4 ประการนี้
เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
คือ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ และฤทธิ์ 4
ประการนี้ พึงเสวยสุขโสมนัสอันมีความสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ และฤทธิ์ 4
ประการนั้นเป็นเหตุบ้างไหม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :307 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [3. สุญญตวรรค] 9. พาลปัณฑิตสูตร

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็น
ผู้สมบูรณ์ด้วยแก้วแม้ประการเดียว ยังเสวยสุขโสมนัสที่เกิดเพราะแก้วแม้ประการ
เดียวนั้นเป็นเหตุได้ ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงแก้ว 7 ประการ และฤทธิ์ 4 ประการเลย
พระพุทธเจ้าข้า”
[260] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนหินขนาดย่อม ๆ เท่าฝ่า
พระหัตถ์ขึ้นมาแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจ
ความข้อนั้นว่าอย่างไร คือก้อนหินขนาดย่อม ๆ เท่าฝ่ามือที่เราถืออยู่นี้กับขุนเขา
หิมพานต์ อย่างไหนใหญ่กว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก้อนหินขนาดย่อม ๆ เท่าฝ่าพระหัตถ์ที่พระองค์ทรง
ถืออยู่นี้ มีประมาณน้อยนัก เปรียบเทียบกับขุนเขาหิมพานต์แล้ว ไม่ถึงการนับ
ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบกันได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สุขโสมนัสที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ และฤทธิ์ 4 ประการ ทรงเสวยสุขโสมนัสอันมี
ความสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการและฤทธิ์ 4 ประการนั้นเป็นเหตุ เปรียบเทียบ
กับสุขที่เป็นทิพย์แล้ว ไม่ถึงการนับ ไม่ถึงแม้ส่วนแห่งเสี้ยว ไม่ถึงแม้การเทียบ
กันได้เลย
บัณฑิตนั้น เพราะเวลาล่วงเลยมานาน ในบางครั้งบางคราวถ้ามาเกิดเป็น
มนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล1 ตระกูลพราหมณมหาศาล
หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เห็นปานนั้น อันเป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มี
โภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมาก มีทรัพย์และธัญชาติมาก
และบัณฑิตนั้นเป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก มีปกติ
ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่อง
ประทีป เขาจึงประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้ว จึงไป
เกิดในสุคติโลกสวรรค์